ข้ามไปเนื้อหา

วอลต์ซิงมาทิลดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Waltzing Matilda)
"วอลต์ซิงมาทิลดา"
ต้นฉบับบันทึกโดย Christina Macpherson, ป. 1895
เพลง
เขียนเมื่อ1895
เผยแพร่1903
แนวเพลงลำนำชายทุ่ง
ผู้ประพันธ์เนื้อเพลงแบนโจ แพเตอร์ซัน
ตัวอย่างเสียง
ภาพถ่ายเมื่อปี 1901 แสดงตัวอย่างของ "คนบ้าหอบฟาง"

"วอลต์ซิงมาทิลดา" (อังกฤษ: Waltzing Matilda) เป็นบทเพลงประเภท "ลำนำชายทุ่ง" (bush ballad) ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดในประเทศออสเตรเลีย และถือกันว่า เป็นเพลงชาติฉบับไม่เป็นทางการของประเทศนี้[1]

ชื่อเพลงเป็นภาษาปากออสเตรเลีย หมายความว่า บ้าหอบฟางเดินทอดน่อง คำว่า "waltzing" แปลว่า เดินทอดน่อง ตัดมาจากวลีเยอรมันว่า auf der Walz ซึ่งสื่อถึงการเดินเตร็ดเตร่เร่รับจ้างทำงานช่างต่าง ๆ ส่วน "matilda" แปลว่า ข้าวของที่ม้วนเป็นห่อสะพายหลัง[2]

เนื้อหาเพลงว่าด้วย ชายบ้าหอบฟาง (swagman) คนหนึ่งซึ่งเร่รับจ้างไปทั่ว ชายผู้นี้นั่งจิบชาอยู่ริมทุ่ง แล้วลักจับแกะ (jumbuck) ชาวบ้านมาฆ่ากิน เจ้าของแกะซึ่งที่จริงแล้วอาศัยอยู่ในที่ดินโดยบุกรุก เรียกขานกันว่า "ผู้บุกรุกที่ดิน" (squatter) จึงแจ้งตำรวจ ตำรวจมากันสามนาย จะจับชายรับจ้างไปดำเนินคดี ชายนั้นจึงกระโจนหนี��งห้วย (billabong) จมน้ำขาดใจตาย กลายเป็นผีคอยหลอกหลอนอยู่ในท้องที่นั้น

เนื้อเพลงดั้งเดิมนั้นประพันธ์ขึ่นเมื่อปี 1895 เป็นฝีมือร้อยกรองของกวีชาวออสเตรเลียชื่อ แบนโจ แพเตอร์ซัน (Banjo Paterson) โน้ตเพลงตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1903 ใจความของเพลงที่มีเรื่องราวชาวบ้านชายทุ่ง และกลวิธีในการประพันธ์ ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์สำหรับเพลงนี้ขึ้นโดยเฉพาะ คือ ศูนย์วอลต์ซิงมาทิลดา (Waltzing Matilda Centre) ในเมืองวินตัน รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย อันเป็นที่ซึ่งแพเตอร์ซันประพันธ์เพลงนี้[3] ครั้นปี 2012 เมืองวินตันประกาศให้วันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันวอลต์ซิงมาทิลดา เพื่อรำลึกถึงความสำคัญของเพลงดังกล่าว ทั้งนี้ วันที่ 6 เมษายน เป็นวันที่เพลง "วอลต์ซิงมาทิลดา" ได้รับการขับร้องบรรเลงต่อสาธารณชนเป็นหนแรก[4][5]

เพลง "วอลต์ซิงมาทิลดา" บันทึกเสียงเป็นครั้งแรกในปี 1926 ผู้บันทึกเสียง คือ จอห์น คอลลินซัน (John Collinson) กับรัสเซล แคลโลว์ (Russell Callow)[6] ต่อมาในปี 2008 หอภาพยนตร์และเสียงแห่งชาติ (National Film and Sound Archive) ขึ้นทะเบียนเพลงนี้ในหมู่ "เสียงแห่งออสเตรเลีย" (Sounds of Australia) ให้เหตุผลว่า เป็นเพลงออสเตรเลียที่บันทึกเสียงไว้มากที่สุด[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Who'll Come A Waltzing Matilda With Me?". National Library of Australia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-06. สืบค้นเมื่อ 3 October 2015.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  2. Oxford English Dictionary, Draft Revision March 2001. "Matilda, n."
  3. "Waltzing Matilda Centre". Matildacentre.com.au. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-13. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.
  4. 4.0 4.1 Arthur, Chrissy (6 April 2012). "Outback town holds first Waltzing Matilda Day". ABC News.
  5. "Waltzing Matilda Day". Waltzing Matilda Centre, Winton. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-27. สืบค้นเมื่อ 2016-01-26.
  6. "National Film and Sound Archive: Waltzing Matilda on australianscreen online". Aso.gov.au. สืบค้นเมื่อ 2013-01-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]