ข้ามไปเนื้อหา

ยุคทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพ ยุคทอง เขียนโดย ปีเอโตร ดา กอร์โตนา (วังปิตตี, ฟลอเรนซ์, อิตาลี)

คำว่า ยุคทอง (อังกฤษ: Golden Age) มีที่มาจากตำนานเทพเจ้ากรีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลงานประพันธ์ "งานและวัน" ของเฮสิโอด และเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายเกี่ยวกับการเสื่อมถอยของสภาพของมนุษย์ผ่านยุคแห่งมนุษย์ ทั้ง 5 ยุค โดยยุคทองคำ เป็นยุคแรกสุด เป็นยุคที่มนุษยเผ่าพันธุ์ทองคำ (อังกฤษ: Golden Race;กรีก: χρύσεον γένος; คริสเซียน เจโนส) อาศัยอยู่[1] หลังจากยุคทองจบลงก็เข้าสู่ยุคเงิน (Silver Age) ต่อด้วยยุคสำริด (Bronze Age) หลังจากนั้นก็เป็นยุควีรบุรุษ (Heroic Age) ปัจจุบันเราอยู่ในยุคที่ห้า คือ ยุคเหล็ก (Iron Age)

โดยการขยายความ "ยุคทอง" หมายถึงช่วงเวลาแห่งสันติภาพ ความสามัคคี ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง ในช่วงเวลานี้ สันติภาพและความสามัคคีครอบคลุมไปทั่ว ผู้คนไม่ต้องทำงานเพื่อหาอาหาร เพราะโลกมอบอาหารให้มากมาย พวกเขาอายุยืนมากและยังคงมีรูปร่างหน้าตาที่อ่อนเยาว์ ในที่สุดก็ตายอย่างสงบ โดยวิญญาณยังคงอยู่เป็น "ผู้พิทักษ์" เพลโต ในบทสนทนาชื่อ แครติลัส (397e)[2] เล่าถึงเผ่าพันธุ์ทองคำของมนุษย์ที่เกิดขึ้นก่อน เขาชี้แจงว่า เฮสิโอดไม่ได้หมายถึงการสร้างจากทองคำโดยตรง แต่หมายถึงความดีและความสูงส่ง

ตามเทพปกรณัมกรีกโบราณ ยุคทองอยู่ภายใต้การปกครองของโครนัส ไททันผู้ยิ่งใหญ่[3] ในบางตำนาน แอสเทรีย ก็เป็นผู้ปกครองร่วมด้วย เธออาศัยอยู่กับมนุษย์จนกระทั่งช่วงปลายยุคเงิน แต่ในยุคสำริด เมื่อผู้คนกลายเป็นพวกหัวรุนแรงและละโมบ เธอก็หนีไปอยู่บนสวรรค์ ปรากฏเป็นกลุ่มดาวหญิงสาว (ราศีกันย์) ถือตาชั่งแห่งความยุติธรรม (ราศีตุลย์)[4]

ประเพณีวรรณกรรมแบบพาสรัล (pastoral) ของยุโรป มักพรรณนาถึงนางไม้และคนเลี้ยงแกะว่ามีชีวิตที่ไร้เดียงสาและสงบในชนบท ตั้งอยู่ในอาร์คาเดีย (Arcadia) ภูมิภาคหนึ่งของกรีซ ซึ่งเป็นที่อยู่และศูนย์กลางการบูชาเทพผู้พิทักษ์แพน เทพเจ้าที่มีขาเป็นแพะ ซึ่งอาศัยอยู่ท่ามกลางพวกเขา[5]

ยุคทองในยุโรป: กรีซ

[แก้]

ยุคแห่งมนุษย์ (Ages of Man) ในตำนานยุโรป มีหลักฐานอ้างอิงที่เก่าแก่ที่สุดปรากฏอยู่ในบทกวี "งานและวัน" (Works and Days) ของเฮสิโอด (Hesiod) กวีชาวกรีกช่วงปลายศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสต์ศักราช (500-350 BCE) บทกวีระหว่างบรรทัดที่ 109 ถึง 126 เฮสิโอด ซึ่งเป็นผู้มองว่ายุคสมัยเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ได้แบ่งช่วงเวลาออกเป็นยุคทอง (Golden Age), ยุคเงิน (Silver Age), ยุคสำริด (Bronze Age), ยุควีรบุรุษ (Heroic Age) และ ยุคเหล็ก (Iron Age) ยกเว้นยุควีรบุรุษแล้ว ยุคแต่ละยุคที่ตามมาเลวร้ายกว่ายุคก่อนหน้า เฮสิโอดเล่าว่า ในยุค���อง ก่อนการประดิษฐ์ศิลปวิทยาการต่างๆ พื้นดินอุดมสมบูรณ์ไปด้วยอาหารมากมาย จนไม่จำเป็นต้องทำการเกษตรกรรม:

[มนุษย์] ในยุคทอง ผู้อาศัยอยู่ดั่งเทพยดา ไร้กังวลในหัวใจ เผลอไผล ปราศจากความความตรากตรำ และ ความโศกเศร้า ยุคเข็ญนั้นมิได้มาเยือน ด้วยเรี่ยวแรงอันมั่นคง พวกเขาสนุกสนานกับงานเลี้ยงที่ไร้ปีศาจมารร้าย เมื่อความตายมาถึง พวกเขาหลับไหลอย่างสงบ และได้รับแต่สิ่งดีงาม ผืนดินอันอุดมสมบูรณ์มิได้ถูกบังคับ มอบผลผลิตมากมายอย่างไม่รู้จักหมดสิ้น พวกเขาอาศัยอยู่อย่างสบายและสงบสุข

เพลโต ในบทสนทนาชื่อ Cratylus ได้กล่าวถึงยุคของมนุษย์ทองคำ และยังกล่าวถึง ยุคแห่งมนุษย์ อย่างละเอียดตามที่ปรากฏในงาน "งานและวัน" (Works and Days) ของเฮสิโอด กวีชาวกรีก ด้วย ในทางกลับกัน ออวิด กวีชาวโรมัน ได้ลดทอนความซับซ้อนของแนวคิดนี้โดยแบ่งยุคต่างๆ เหลือเพียงสี่ยุค ได้แก่ ทองคำ ทองแดง เงิน และเหล็ก บทกวีของออวิดน่าจะเป็นแหล่งเผยแพร่ตำนานยุคทองคำที่สำคัญในช่วงเวลาที่ยุโรปตะวันตกสูญเสียการติดต่อโดยตรงกับวรรณกรรมกรีก

ยุคทอง (ป. 1530) โดย ลูคัส ครานัค

ฉบับของเฮสิโอด ยุคทองสิ้นสุดลงเมื่อ โพรมีเทียส ไททันผู้ยิ่งใหญ่ มอบไฟและศิลปวิทยาการต่างๆ ให้แก่มนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ซุส จึงลงโทษโพรมีเทียสด้วยการล่ามโซ่เขาไว้กับก้อนหินในเทือกเขาคอเคซัส ที่ซึ่งมีนกอินทรีมากินตับของเขาชั่วนิรันดร์ เหล่าทวยเทพได้ส่ง แพนโดรา หญิงสาวรูปงาม ไปหาเอพิมีเทียส น้องชายของโพรมีเทียส เหล่าทวยเทพได้มอบ กล่องวิเศษ ใบหนึ่งให้แก่แพนโดรา พร้อมกับห้ามมิให้เปิดออก ทว่า ความอยากรู้อยากเห็นอันไม่อาจควบคุมได้ก็รุนแรงเกินกว่าที่นางจะอดทนไหว นางเปิดกล่องออก ปล่อยให้ความชั่วร้ายทั้งมวลหลั่งไหลออกมาสู่โลกมนุษย์

โรเบิร์ต วิลเลมส์ซ เดอ โบดูส: ยุคทอง แกะสลัก ป. 1598 .

หลักสูตรออร์พิก ซึ่งเป็นลัทธิความเชื่อแบบมีพิธีกรรมลับ ลัทธิหนึ่งกำเนิดขึ้นในเทรซ (Thrace) และแพร่กระจายไปยังกรีซในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช และแพร่หลายมายังกรีซในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสต์ศักราช มีความเชื่อเกี่ยวกับยุคแรกของมนุษย์คล้ายคลึงกับเฮสิโอด โดยใช้โลหะเป็นสัญลักษณ์ในการแบ่งช่วงเวลา เช่นเดียวกับลัทธิความเชื่อแบบมีพิธีกรรมลับอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วไปในโลกกรีก-โรมัน (และศาสนาต้นกำเนิดของอินโด-ยูโรป) มุมมองของจักรวาลในลัทธิออร์พิกคือโลกหมุนเวียน การเข้าร่วมพิธีกรรมลับของลัทธิ รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าจะช่วยให้วิญญาณของผู้ศรัทธาได้รับการปลดปล่อยจากวัฏสงสารอันโหดร้าย และบรรลุถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเหล่าเทพ ในบางครั้ง พวกออร์พิกเชื่อมโยงยุคทองกับยุคสมัยของ เทพฟาเนส (Phanes) ผู้ปกครองเขาโอลิมปัสก่อนโครนัส อย่างไรก็ตาม ในเทพปกรณัมกรีก ยุคทองมักเกี่ยวข้องกับรัชสมัยของแซตเทิร์น (Saturn) ในศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตศักราช นักปรัชญา เอมเปโดแกลส (Empedocles) เช่นเดียวกับเฮสิโอดก่อนหน้าเขา เน้นย้ำแนวคิดเรื่องความบริสุทธิ์และความกลมกลืนดั้งเดิมในธรรมชาติทั้งหมด รวมถึงสังคมมนุษย์ ซึ่งเขายืนยันว่าเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

อาร์คาเดีย

[แก้]

ในกรีซ มีตำนานเล่าขานว่า แหล่งกำเนิดของยุคทองคือ อาร์คาเดีย พื้นที่ชนบทอันยากจนของกรีซ ซึ่งคนเลี้ยงสัตว์ยังคงดำรงชีพด้วยลูกโอ๊ก และเป็นที่อาศัยของแพน (Pan) เทพเจ้าผู้มีเท้าเป็นแพะ อยู่ท่ามกลางต้นป็อปเลอร์บนภูเขาไมนาโลส อย่างไรก็ตาม ในศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสต์ศักราช กวีชาวกรีก เธโอคริตุส (Theocritus) ซึ่งเขียนใน เมืองอะเล็กซานเดรีย ได้เลือกเกาะซิซิลี (Sicily) อันอุดมสมบูรณ์เป็นฉากหลังบทกวีทุ่งเลี้ยงแกะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาเอง  ตัวเอกของบทกวีทุ่งเลี้ยงแกะ บทแรก ของเธโอคริตุส คือ แดฟนิส (Daphnis) ซึ่งเป็นคนเลี้ยงแพะ ที่ได้รับการสอนให้เป่าขลุ่ยปาน (Syrinx) โดยเทพแพนเอง

ประติมากรรมของ แพน สอน แดฟนิส เล่นไปป์ ป. 100 ปีก่อนคริสตศักราช พบใน เมืองปอมเปอี

ยุคทองในโรม: เวอร์จิล และโอวิด

[แก้]

ในช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนทางการเมือง ปลายสาธารณรัฐโรมัน (ราวระหว่าง 44 ถึง 38 ปี ก่อนคริสต์ศักราช) เวอร์จิลกวีชาวโรมันผู้เขียนบทกวีเป็นภาษาละติน ได้ย้ายฉากหลังของบทกวีเลียนแบบผลงานทุ่งเลี้ยงแกะของเธโอคริตุส กลับไปสู่อาร์คาเดียในกรีซที่ถูกยกย่องเป็นดินแดนในอุดมคติ  การกระทำนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของประเพณีอันงดงามและทรงพลังในวรรณกรรมยุโรปยุคต่อมา

เพิ่มเติมจากนั้น เวอร์จิล ได้นำเสนอองค์ประกอบของสัญลักษณ์ทางการเมือง เข้ามาในบทกวีของเขา ซึ่งแทบจะไม่มีปรากฏในผลงานของเธโอคริตุสเลย เวอร์จิลยังได้ใบ้ถึงการกลับมาของยุคทองคำยุคใหม่แห่งสันติภาพและความยุติธรรมอีกด้วย ใน บทกวี บทที่สี่ (Eclogue) ของเขา:

Ultima Cumaei venit iam carminis aetas;
magnus ab integro saeclorum nascitur ordo:
iam redit et Virgo, redeunt Saturnia regna;
iam nova progenies caelo demittitur alto.[6]

คำแปล:
บัดนี้ยุคสุดท้ายที่ซิบอลแห่งคูเมียได้ขับขาน
มาถึงและผ่านไปแล้ว และวงรอบอันสง่างาม
แห่งศตวรรษที่หมุนเวียนเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง:
แอสทรีอาเอากลับมาอีกครั้ง,
ยุคของแซทเทิร์นโบราณหวนคืน,
พร้อมกับเผ่าพันธุ์ใหม่ของมนุษย์ที่ส่งลงมาจากสวรรค์

ต่อมาไม่นาน ก่อนที่เขาจะเขียน บทกวี มหากาพย์ เรื่อง อีนีอิด (Aeneid) ซึ่งกล่าวถึงการสถาปนาจักรวรรดิโรมัน เวอร์จิล ได้แต่ง บทกวี จอร์จิกส์ (Georgics) (29 ปีก่อนคริสต์ศักราช) โดยยึดตาม "งานและวัน" ของเฮสิโอด และผลงานกรีกอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกัน แม้จะอ้างว่าเป็นบทกวีเกี่ยวกับการเกษตรกรรม บทกวีจอร์จิกส์ จริงๆ แล้วเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ซับซ้อน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติโดยมนุษย์ (ผ่านการทำงาน) กับการปกครองที่ดีและเลวร้าย แม้ว่าเวอร์จิลจะไม่ได้กล่าวถึงยุคทองคำตามชื่อในบทกวีจอร์จิกส์ เขาก็ยังได้อ้างถึงช่วงเวลาที่มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน ก่อนรัชสมัยของจูปิเตอร์ เมื่อ:

ทุ่งนามิรู้จักมือขยานแห่งชาวไร่
ที่จะขีดเส้นเขตหรือวัดด้วยเขตแดน
สิ่งนี้แม้กระทั่งเป็นบาป; สำหรับทรัพย์สมบัติทั่วไป
พวกเขาเก็บเกี่ยว, และแผ่นดินด้วยความตั้งใจของเธอเอง
ทุกสิ่งมากมายอย่างเสรี, มิได้ต้องให้ใครสั่ง

ante Iouem nulli subigebant arua coloni
ne signare quidem aut partiri limite campum
fas erat; in medium quaerebant, ipsaque tellus
omnia liberius nullo poscente ferebat. [7]

มุมมองนี้ซึ่งระบุ "สภาพธรรมชาติ" ว่าเป็นความกลมกลืนบนสวรรค์ที่ธรรมชาติของมนุษย์เป็นส่วนย่อย (หรือควรจะเป็น หากได้รับการควบคุมอย่างเหมาะสม) สะท้อนถึงจักรวาลวิทยาแบบเฮลเลนิสต์ (Hellenistic cosmology) ที่แพร่หลายในชนชั้นปัญญาชนยุคของเวอร์จิล เราพบแนวคิดนี้ปรากฏซ้ำอีกใน เมทามอร์โฟซีส ของออวิด (7 ปีหลังคริสต์ศักราช) ซึ่งบรรยายถึงยุคทองคำที่สูญหายไปว่าเป็นสถานที่และช่วงเวลาที่ธรรมชาติและเหตุผลสอดคล้องกันอย่างกลมกลืน ทำให้มนุษย์เป็นคนดีโดยธรรมชาติ:

ยุคทองเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก; เมื่อมนุษย์ยังใหม่
ไม่มีกฎใดนอกจากเหตุผลที่บริสุทธิ์รู้จัก:
และด้วยแนวโน้มธรรมชาติ, แสวงหาความดี
ไม่ถูกบังคับด้วยการลงโทษ, ไม่หวั่นกลัวด้วยความกลัว
คำพูดของเขาเรียบง่าย, และจิตวิญญาณของเขาจริงใจ;
ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายที่เขียนขึ้น, เมื่อไม่มีใครถูกกดขี่:
กฎหมายของมนุษย์ถูกเขียนไว้ในใจของเขาเอง[8][9]

แนวคิดเรื่อง "มนุษย์ปุถุชน" ตามแบบกรีก-โรมัน ที่นักเขียนคลาสสิกหลายคนรวมถึงออวิด บรรยายไว้ ได้รับความนิยมอย่างมากในศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคเทวัสนิยม มีอิทธิพล อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นของรูไซ ซึ่งแท้จริงแล้ว รูโซไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดนี้[10]

"ป่าเถื่อนแบบอ่อน" และ "ป่าเถื่อนแบบแข็ง" ในอาร์คาเดีย

[แก้]

ในบทความอันโด่งดังของเขา "Et in Arcadia ego: ปูสซินและประเพณีอันสง่างาม"[11] เออร์วิน พานอฟสกี กล่าวถึงภูมิภาคอาร์คาเดียในกรีซตอนกลาง ซึ่งมิได้อุดมสมบูรณ์จนเกินไป  ในสมัยโบราณนั้น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นดินแดนแห่งความสุขสมบูรณ์แบบและความงามอันเลอเลิศ ดั่งฝันที่เป็นจริงของความสุขที่ไม่อาจบรรยายได้ ถึงกระนั้นก็ยังคงถูกรายล้อมไปด้วยรัศมีแห่งความโศกเศร้าที่ "แสนหวาน"

ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกของการค้นคว้าทางปรัชญาแบบคลาสสิก มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันสองประการเกี่ยวกับสภาพดั้งเดิมของมนุษย์ ซึ่งแต่ละความคิดเห็น ล้วนเป็น "การสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเทียบเคียง" (Gegen-Konstruktion) กับสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นนั้น ความคิดเห็นแบบแรกเรียกว่า "ป่าเถื่อนแบบอ่อน" (soft primitivism) ตามที่อธิบายไว้อย่างแจ่มแจ้งในหนังสือโดยเลิฟจอยและโบอาส[12] มองว่าชีวิตแบบป่าเถื่อนเป็นยุคทองคำที่อุดมสมบูรณ์ บริสุทธิ์ และมีความสุข  กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือชีวิตที่เจริญแล้ว ปราศจากความชั่วร้าย อีกความคิดเห็นหนึ่งคือ "ป่าเถื่อนแบบแข็ง" (hard primitivism) มองว่าชีวิตแบบป่าเถื่อนเป็นการดำรงอยู่แบบเกือบจะไม่ใช่ของมนุษย์ เต็มไปด้วยความยากลำบากข้นแค้น  และปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกสบายใดๆ  กล่าวอีกนัยหนึ่ง มันคือชีวิตที่เจริญแล้ว ที่ถูกพรากซึ่งคุณงามความดีไป

อาร์คาเดีย ที่เราพบเห็นในวรรณกรรมยุคใหม่ทั้งหมด และที่เรามักใช้กล่าวถึงในชีวิตประจำวัน จัดอยู่ในประเภท "ป่าเถื่อนแบบอ่อน" หรือ ยุคทองคำ แน่นอนว่า อาร์คาเดีย ที่แท้จริงนั้น เป็นดินแดนของเทพแพน ที่ผู้คนได้ยินเสียงเขาเป่าปี่ซีริงซ์ (syrinx) บนภูเขาไมนาโลส (Mount Maenalus) ผู้อาศัยอยู่ในดินแดนนี้ ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถด้านดนตรี เชื้อสายโบราณ คุณธรรมอันแข็งแกร่ง และการต้อนรับผู้มาเยือนอย่างชนบท

ยุคทองอื่น ๆ

[แก้]

มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกันในประเพณีทางศาสนา และปรัชญาของอนุทวีปอินเดีย ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมเวท หรือฮินดูโบราณ มองว่าประวัติศาสตร์เป็นวัฏจักร แต่ละวัฏจักรประกอบด้วย 4 ยุค (yugas) – สัตยยุค (ยุคทอง), เตรตายุค (ยุคเงิน), ทวาปรยุค (ยุคทองแดง) และ กลียุค (ยุคเหล็ก) – สอดคล้องกับยุคทั้งสี่ของกรีก ความเชื่อที่คล้ายคลึงกันนี้ยังปรากฏอยู่ในตะวันออกกลางโบราณและทั่วโลกยุคโบราณเช่นกัน[13]

ศาสนาคริสต์

[แก้]

ในพระสูตรดาเนียล บทที่ 2 มีการกล่าวถึงลำดับอาณาจักรในฝันของพระเจ้าเนบูคัดเนสซาร์ ซึ่งระบุไว้ว่าเป็นทองคำ เงิน สำริด เหล็ก และสุดท้ายคือเหล็กผสมดินเหนียว เรียงลำดับจากมีค่ามากไปหาน้อย

31 ข้าแต่พระราชา ฝ่าพระบาททอดพระเนตร และดูเถิด มีปฏิมากรขนาดใหญ่ ปฏิมากรนี้มหึมาจริงๆ และสุกใสยิ่งนัก ตั้งอยู่เฉพาะพระพักตร์ฝ่าพระบาท และรูปร่างน่ากลัว 32 หัวของปฏิมากรนี้เป็นทองนพคุณ อกและแขนเป็นเงิน ท้องและโคนขาเป็นทองสัมฤทธิ์ 33 ขาเป็นเหล็ก เท้าเป็นเหล็กปนดิน 34 ขณะพระองค์ทอดพระเนตร มีหินก้อนหนึ่งถูกตัดออกมาไม่ใช่ด้วยมือมนุษย์ หินนั้นกระทบปฏิมากรที่เท้าอันเป็นเหล็กปนดิน ทำให้มันแตกเป็นชิ้น ๆ 35 แล้วส่วนเหล็ก ดินเหนียว ทองสัมฤทธิ์ เงิน และทองคำ ก็แตกเป็นชิ้นๆ พร้อมกัน กลายเป็นเหมือนแกลบจากลานนวดข้าวในฤดูร้อน ลมก็พัดพาเอาไปทั่ว จึงหาร่องรอยไม่พบอีกเลย แต่ก้อนหินที่กระทบปฏิมากรนั้นกลายเป็นภูเขาใหญ่จนเต็มพิภพ"[14][15]

— Daniel 2: 31–35

ส่วนท่อน 36–45 เป็นการตีความของความฝัน

ศาสนายิว

[แก้]

ยุคทองของชาวยิวหมายถึงช่วงเวลาแห่งการปกครองของชาวมุสลิมในสเปน ซึ่งทำให้วัฒนธรรมของชาวยิวเจริญรุ่งเรือง

ศาสนาฮินดู

[แก้]

ตามคำสอนของอินเดีย ยุคทั้งสี่ของโลก (ยุค) ไม่ได้แบ่งตามโลหะ แต่แบ่งตาม "ธรรม" หรือ คุณธรรม  โดยยุคแรกเริ่มต้นด้วยคุณธรรมมากที่สุด   และยุคสุดท้ายสิ้นสุดลงด้วยคุณธรรมน้อยที่สุด เมื่อยุคหนึ่งจบลง วัฏจักรใหม่ (วัฏจักรยูกะ) ในสี่ยุคเดียวกัน: สัตยยุค (ยุคทอง), เตรตายุค, ทวาปรยุค และ กลียุค (ยุคมืด) ซึ่งตามความเชื่อ ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในกลียุคนั่นเอง[16][ต้องการแหล่งอ้างอิงดีกว่านี้]

ในสัตยยุค ผู้คนเน้นความรู้ การทำสมาธิ และการเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณ สังคมเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม  มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน อาศรมปราศจากความชั่วร้ายและการหลอกลวง นาฏยัม (เช่น ภารตนาฏยัม) ตาม นาฏยศาสตร์ ไม่มีใน สัตยยุค "เพราะเป็นเวลาที่ทุกคนมีความสุข"[ต้องการอ้างอิง]

สัตยยุค (หรือรู้จักกันในชื่อ กฤตยุค) ตาม มหาภารตะ:[ต้องการอ้างอิง]

บุรุษย์ในยุคนั้น ไม่จำเป็นต้องซื้อขาย ไม่มีชนชั้นยากจนหรือร่ำรวย ไม่มีความจำเป็นต้องทำงานหนัก เพราะทุกสิ่งที่มนุษย์ต้องการ สามารถบันดาลได้ด้วยพลังแห่งจิตใจ คุณธรรมสำคัญประการแรก คือ การละทิ้งความปรารถนาทางโลกทั้งหมด กฤตยุค เป็นยุคที่ปราศจากโรคภัย ร่างกายไม่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา ไม่มีทั้งความเกลียดชัง ความหยิ่งยโส หรือความคิดชั่วร้ายใด ๆ ไม่มีทั้งความเศร้าโศกและความกลัว มวลมนุษย์สามารถบรรลุสุขยิ่งได้

อิสลาม

[แก้]

ยุคทองของอิสลาม (อาหรับ: العصر الذهبي للإسلام, โรมาเนีย: al-'asr al-dhahabi lil-islam) เป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองทางด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และวิทยาศาสตร์ในประวัติศาสตร์ของศาสนาอิสลาม ตามประเพณี ยุคนี้กินระยะเวลาระหว่างศตวรรษที่ 8 ถึงศตวรรษที่ 14 โดยทั่วไปเชื่อว่า ยุคทองเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของ อับบาซิยะฮ์ คอลีฟะฮ์ ฮารุน อัล-ราชิด (ค.ศ. 786 ถึง ค.ศ. 809) ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการก่อตั้ง "หอแห่งปัญญา" (House of Wisdom)กรุงแบกแดด ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางการรวบรวมและแปลความรู้คลาสสิกทั้งหมดของโลกที่รู้จักในขณะนั้น  โดยนักวิชาการและปราชญ์ชาวอิสลามจากหลากหลายดินแดนที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  ภาษาที่ใช้ในการแปลหลัก ๆ คือ ภาษาซีรีแอก และ ภาษาอาหรับ[ต้องการอ้างอิง]

เจอร์แมนิก

[แก้]

นอร์สเก่า: Gullaldr ("ยุคทอง")ใช้ในบทความ "กิลฟากนิงนิง" เพื่ออธิบายช่วงเวลาหลังจากการสร้างโลก ก่อน การมาถึงของสตรีทั้งสามจาก ยอตุนเฮย์เมอร์ (Jötunheimr) ซึ่งมีการสันนิษฐานว่า พวกนี้อาจจะเป็นนอร์ส (เทพธิดาแห่งโชคชะตา)[17][18][19]

ยุคอุดมคติอีกช่วงหนึ่ง คือ ยุคแห่งสันติสุขของฟรอดี (Fróði's Peace) เป็นช่วงเวลากึ่งตำนาน ภายใต้การปกครองของกษัตริย์เดนมาร์กองค์หนึ่ง ยุคนี้ โดดเด่นด้วยสันติภาพและความมั่งคั่งที่แผ่ไหลไปทั่วทั้งยุโรปเหนือ[20]

ตำนานและศาสนาของจีน

[แก้]

ในตำนานนิทานที่มองว่าเฉินหนง (Shennong) เป็นวีรบุรุษผู้สร้างสรรค์วัฒนธรรมมากกว่าเป็นเทพเจ้า เชื่อกันว่าเขาได้รักษายุคทองไว้ในโลกโดยช่วยเหลือมนุษย์ด้วยการทำสิ่งต่างๆ เช่น การกินพืชทุกชนิดเพื่อดูว่าชนิดใดกินได้ รวมถึงความทุกข์ทรมานของตัวเขาเองเนื่องจากการถูกวางยาพิษหลายครั้ง ซึ่งเขาสามารถรอดชีวิตได้ด้วยระบบย่อยอาหารเหนือธรรมชาติของเขา ยุคทองสิ้นสุดลงเมื่อเขาเสียชีวิต[21]

วัฒนธรรมสมัยนิยม

[แก้]

แฟนตาซี

[แก้]

ในโลกแฟนตาซีสมัยใหม่ ซึ่งบางครั้งมีภูมิหลังและฉากมาจากตำนานในโลกแห่งความเป็นจริง แนวคิดที่คล้ายคลึงหรือเข้ากันได้กับยุคทองนั้นมีอยู่ในประวัติศาสตร์ก่อนยุคของโลกดังกล่าว เมื่อเทพเจ้าหรือสิ่งมีชีวิตคล้ายเอลฟ์มีอยู่ ก่อนการมาถึงของมนุษย์

ตัวอย่างเช่น ในผลงาน ตำนานแห่งซิลมาริล ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ยุคทองมีอยู่ในตำนานของมิดเดิลเอิร์ธ อาร์ดา (ส่วนหนึ่งของโลกที่เรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ตั้งอยู่) ถูกออกแบบให้สมมาตรและสมบูรณ์แบบ หลังจากสงครามของเหล่าเทพ อาร์ดาสูญเสียรูปร่างที่สมบูรณ์แบบ (รู้จักกันในชื่อ อาร์ดาอันมาร์เรด) และถูกเรียกว่า อาร์ดา มาร์เรด ยุคทองอีกแบบหนึ่งตามมาภายหลัง หลังจากที่เอลฟ์ตื่นขึ้น เอลดาร์ อยู่บน วาลินอร์ อาศัยอยู่กับ วาลาร์ และก้าวหน้าในด้านศิลปะและความรู้ จนกระทั่งการกบฏและการล่มสลายของโนลดอร์ ซึ่งชวนให้นึกถึงการล่มสลายของมนุษย์ ในที่สุด หลังจากสิ้นสุดโลก ซิลมาริลลี จะถูกกู้คืนและแสงแห่งต้นไม้สองต้นแห่งวาลินอร์จะถูกจุดใหม่ อาร์ดาจะถูกสร้างขึ้นใหม่เป็น อาร์ดา ฮีลด์

ในจักรวาลของ กงล้อแห่งกาลเวลา "ยุคแห่งตำนาน" คือชื่อที่ให้กับยุคก่อนหน้า ในสังคมนี้ ผู้ใช้พลังเวทย์เป็นเรื่องปกติ และแอสเซได–ผู้ใช้พลังเวทย์ที่ผ่านการฝึกฝน– มีพลังอำนาจอย่างยิ่ง สามารถสร้างแองเกรล ซาแองเกรล และเทอร์แองเกรล และดำรงตำแหน่งพลเรือนที่สำคัญ ยุคแห่งตำนานถูกมองว่าเป็นสังคมในอุดมคติที่ปราศจากสงครามและอาชญากรรม และอุทิศตนเพื่อวัฒนธรรมและการเรียนรู้ แอสเซไดมักอุทิศตนเพื่อการศึกษาทางวิชาการ ซึ่งหนึ่งในนั้นได้สร้างหลุมโดยไม่ตั้งใจ เดอะบอร์ เจาะเข้าไปในคุกของเดอะดาร์กวัน ผลกระทบในทันทีไม่เป็นที่รู้จัก แต่เดอะดาร์กวันค่อย ๆ ยืนหยัดอำนาจเหนือมนุษยชาติ ชักจูงคนจำนวนมากให้กลายเป็นผู้ติดตามของเขา ซึ่งนำไปสู่สงครามแห่งอำนาจและในที่สุดการแตกสลายของโลก

อีกตัวอย่างหนึ่งคือในภูมิหลังของเกมคอมพิวเตอร์คลาสสิก แลนด์ออฟลอร์ ซึ่งประวัติศาสตร์ของดินแดนแบ่งออกเป็นยุค หนึ่งในนั้นเรียกว่ายุคทอง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ดินแดนถูกปกครองโดย 'บรรพบุรุษ' และไม่มีสงคราม ยุคนี้อยู่ในช่วงก่อน 'สงครามแห่งผู้นอกรีต'

ยุคทองอาจหมายถึงช่วงวัยเด็กตอนต้นด้วย เฮอร์เบิร์ต สเปนเซอร์ อ้างว่าเด็กเล็กพัฒนาผ่านขั้นตอนทางความรู้ความเข้าใจของวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์และของอารยธรรมมนุษย์ ทำให้เชื่อมโยงระหว่างยุคก่อนอารยธรรมและวัยทารก[22] เคนเนธ เกรแฮม เรียกการย้อนอดีตวัยเด็กตอนต้นของเขาว่า 'ยุคทอง'[23] และตัวละครในจินตนาการของ เจ.เอ็ม. แบร์รี อย่างปีเตอร์ แพน ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกใน นกน้อยสีขาว[24] ได้รับการตั้งชื่อตาม แพน เทพเจ้ากรีกจากยุคทอง ผลงานเพิ่มเติมของแบร์รีเกี่ยวกับปีเตอร์ แพน[25] [26] แสดงให้เห็นถึงวัยเด็กตอนต้นว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเป็นธรรมชาติและความสุขก่อนอารยธรรม ซึ่งถูกทำลายโดยกระบวนการศึกษาในภายหลัง [27]

การใช้งานในปัจจุบัน

[แก้]

ปัจจุบันคำว่า "ยุคทอง" มักใช้ในบริบทของช่วงเวลาเฉพาะในประวัติศาสตร์ของประเทศหนึ่ง เช่น ยุคทองของสเปน ยุคทองของเนเธอร์แลนด์ ยุคทองของเดนมาร์ก ยุคทองของฟลานเดอร์ส หรือประวัติศาสตร์ของสาขาเฉพาะ เช่น ยุคทองแห่งการปีนเขา ยุคทองแห่งภาพยนตร์การ์ตูนอเมริกัน ยุคทองของการ์ตูน ยุคทองของนิยายวิทยาศาสตร์ ยุคทองของโทรทัศน์ ยุคทองข��งฮอลลีวูด ยุคทองของเกมอาเขต ยุคทองของวิทยุ ยุคทองของฮิปฮอป ยุคทองของโรงละครคามิชิบาอิ (ในญี่ปุ่น) และแม้กระทั่ง ยุคทองของการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือ ยุคทองของสื่อลามก โดยปกติแล้ว คำว่า "ยุคทอง" จะถูกมอบให้ย้อนหลัง เมื่อช่วงเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลงและถูกนำมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่ตามมาในสาขาเฉพาะที่กล่าวถึง นอกจากนี้คำดังกล่าวยังถูกใช้ในอนาคตด้วย ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2020 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ดอนัลด์ ทรัมป์ ได้โพสต์ข้อความบน ทวิตเตอร์ โดยสัญญาว่าจะมี "ยุคทอง" ในอนาคตเมื่อประเทศฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19[28] คำว่า "ยุคทอง" ซึ่งหมายถึงช่วงเวลาหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เป็นการล้อเลียนการใช้คำว่า "ยุคทอง" นี้ (โดยบอกเป็นนัยว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีลักษณะภายนอกเหมือนยุคทอง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่น่าปรารถนามากนัก)

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hesiod, "109", Works and Days.
  2. เพลโต. "Cratylus". Perseus Digital Library. สืบค้นเมื่อ 2024-07-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. Gravity, Grass (1960). The Greek Myths. London: Penguin Books. pp. 35–37. ISBN 9780140171990.
  4. "เฮสิโอดเรียก [แอสเทรีย] ว่าธิดาของซุสและธีมิส อาราตุสกล่าวว่าเธอถูกคิดว่าเป็นธิดาของแอสเทรียสและออรอร่า ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคทองของมนุษย์และเป็นผู้นำของพวกเขา เนื่องจากความรอบคอบและความยุติธรรมของเธอ เธอจึงถูกเรียกว่าความยุติธรรม และในเวลานั้นไม่มีชาติใดถูกโจมตีในสงคราม และไม่มีใครแล่นเรือข้ามทะเล แต่พวกเขาเคยใช้ชีวิตดูแลทุ่งนาของตน แต่ผู้ที่เกิดหลังจากการตายของพวกเขาเริ่มไม่ใส่ใจกับหน้าที่และมีความโลภมากขึ้น จนกระทั่งโรคระบาดรุนแรงมากจนกล่าวกันว่าเกิดเผ่าพันธุ์ทองแดง จากนั้นเธอก็ไม่สามารถทนได้อีกต่อไป และบินหนีไปยังดวงดาว" (Gaius Julius Hyginus, Astronomica 2).
  5. Bridget, Ann Henisch (1999). The Medieval Calendar Year. Pennsylvania State University Press. p. 96. ISBN 978-0-271-01904-8.
  6. "ECLOGA IV". Perseus Digital Library. สืบค้นเมื่อ 2024-07-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  7. Virgil (1988). Richard, F. Thomas (บ.ก.). Georgics: Books 1-2. Vol.1. Cambridge University Press. pp. 125–128. ISBN 9780521278508.
  8. Ovid: The Metamorphoses (ภาษาEnglish). CreateSpace Independent Publishing Platform. ISBN 1502776456.{{cite book}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์)
  9. "Ovid: The Metamorphoses". Poetry in Translation. สืบค้นเมื่อ 2024-07-17.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. Lovejoy, Arthur O. (1923). "The Supposed Primitivism of Rousseau's 'Discourse on Inequality.'" (online). Modern Philology. เจสตอร์. 21: 165–186.
  11. Panofsky, Erwin (1936). "Et in Arcadia ego: Poussin and the Elegiac Tradition" (PDF) (ภาษาEnglish). pp. 297–298. สืบค้นเมื่อ 2024-07-17.{{cite web}}: CS1 maint: unrecognized language (ลิงก์) CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  12. A.O. Lovejoy and G. Boas, Primitivism and Related Ideas in Antiquity (Baltimore: Johns Hopkins Press, 1935).
  13. Richard Heinberg (1989). Memories and Visions of Paradise: Exploring the Universal Myth of a Lost Golden Age Los Angeles, Calif.: Tarcher. 282 pp. ISBN 0-87477-515-9.
  14. "ดาเนียล 2". Life.Church / YouVersion. สืบค้นเมื่อ 2024-07-12.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. "Daniel 2: 31–35". Zondervon. สืบค้นเมื่อ 15 December 2014.
  16. Matsya Purana
  17. "Gylfaginning – heimskringla.no". heimskringla.no. สืบค้นเมื่อ 3 July 2022.
  18. Brodeur, Arthur Gilchrist (2018). The Prose Edda of Snorri Sturlson. Franklin Classics Trade Press. ISBN 978-0344335006.
  19. Bellows, Henry Adam. "The Poetic Edda: Voluspo". www.sacred-texts.com. สืบค้นเมื่อ 3 July 2022.
  20. Simek, Rudolf (1993). Dictionary of northern mythology. Cambridge [England]: D.S. Brewer. ISBN 9780859915137.
  21. Armstrong, Karen (2005). A Short History of Myth (First American ed.). Broadway, New York: Canongate Books. p. 90. ISBN 9781841957166.
  22. Spencer, Herbert (1861). Education. p. 5.
  23. Grahame, Kenneth (1985). The Golden Age. UK: The Bodley Head.
  24. Barrie, James Matthew (1902). The Little White Bird. UK: Hodder and Stoughton.
  25. Barrie, James Matthew (1906). Peter Pan in Kensington Gardens. Hodder and Stoughton.
  26. Barrie, James Matthew (1911). Peter and Wendy. Hodder and Stoughton.
  27. Ridley, Rosalind (2016). Peter Pan and the Mind of J M Barrie. Cambridge Scholars Publishing.
  28. "Tweet from Donald J. Trump: We will beat the Virus, soon, and go on to the Golden Age - better than ever before!". Twitter (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-28. สืบค้นเมื่อ 2020-07-28.