ข้ามไปเนื้อหา

วิทยาลัยช่างศิลป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิทยาลัยช่างศิลป
College of Fine Arts
สถาปนา4 มีนาคม พ.ศ. 2495 (72 ปี)
ผู้อำนวยการนายจรัญ หนองบัว
ที่อยู่
เลขที่ 60 ซอยหลวงแพ่ง 2 แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร 10520
มาสคอต
พระพิฆเนศ
เว็บไซต์cfa.bpi.ac.th

วิทยาลัยช่างศิลป (อังกฤษ: College of Fine Arts) เป็นกลุ่มสถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยจัดการเรียนการสอนในสาขาศิลปะ ทั้งศิลปะไทยประเพณี และศิลปะร่วมสมัย

ประวัติความเป็นมาวิทยาลัยช่างศิลป[แก้]

วิทยาลัยช่างศิลป มีชื่อเดิมว่า "โรงเรียนศิลปศึกษา" ตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมายเพื่อให้มีฐานะเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากร ดำเนินงานโดยอาศัยเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัย และได้ครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยช่วยทำการสอน นอกจากครูสอนวิชาสามัญมีทั้งครูประจำและเชิญบุคคลภายนอกมาสอนพิเศษเป็นรายชั่วโมง หลักสูตรศิลปะก็จัดวิชาและรายการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรของมหาวิทยาลัยศิลปากร เว้นแต่วิชาสามัญคงดำเนินการสอนตามหลักสูตรชั้นเตรียมอุดมศึกษาแผนกอักษรศาสตร์

โรงเรียนศิลปศึกษา ได้มีประกาศให้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2495 โดยนายกคณะกรรมการมหาวิทยาลัยศิลปากร และประกาศใช้ข้อบังคับว่าด้วยการศึกษาของโรงเรียนศิลปศึกษา พุทธศักราช 2495 กำหนดคุณสมบัติและพื้นความรู้ของผู้สมัครเข้าเรียน ค่าธรรมเนียมการเรียน

หลักสูตรในระยะแรกเริ่มนี้คงเปิดสอนเพียงแผนกเดียว คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม เป็นหลักสูตร 3 ปี และให้สิทธิ์ผู้สอบได้ชั้นปีที่ 2 ซึ่งได้คะแนนรวมไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยศิลปากรโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก ส่วนผู้ที่จบการศึกษาตามหลักสูตร 3 ปี จะได้ประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางของกรมศิลปากร

โรงเรียนศิลปศึกษา เปิดทำการสอนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2495 มีนักเรียนรุ่นแรกจำนวน 36 คน โดยใช้สถานที่ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นสถานที่เรียนชั่วคราว

  • พ.ศ. 2496 – ได้ขยายการสอนเป็น 3 แผนก คือ แผนกจิตรกรรมและประติมากรรม แผนกช่างสิบหมู่ และแผนกโบราณคดี แต่ละแผนกมีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี
  • พ.ศ. 2497 – กรมศิลปากรได้รับมอบตึกที่ทำการกระทรวงคมนาคมเดิม 3 หลัง จึงได้ยกตึก 2 หลังด้านในให้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนศิลปศึกษา นับแต่นั้นเป็นต้นมาโรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีสถานที่เรียนเป็นการถาวร จน พ.ศ. 2503 อาคารเรียนจึงถูกรื้อไปเสียหลังหนึ่งเพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ
  • พ.ศ. 2498 – โรงเรียนศิลปศึกษายังคงดำเนินการสอนใน 3 แผนก พร้อมกันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปลี่ยนหลักเกณฑ์การรับนักศึกษาใหม่ คือรับนักเรียนที่สอบไล่ได้ชั้นปีที่ 2 เข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย แต่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเสียก่อน
  • พ.ศ. 2500 – มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการดำเนินงานของโรงเรียนหลายประการคือ
    • ได้มีการกำหนดฐานะของโรงเรียนประเภทเตรียมอุดมศึกษา เรียกชื่อว่า "โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร"
    • ได้ยุบเลิกแผนกช่างสิบหมู่ คงเหลือไว้เพียง 2 แผนก และเรียกชื่อใหม่ว่า แผนกเตรียมศิลปและแผนกเตรียมโบราณคดี สำหรับการศึกษาใน 2 ปีแรก
    • เปลี่ยนมาสังกัดอยู่ในกองหัตถศิลป กรมศิลปากร
  • พ.ศ. 2501 – โรงเรียนศิลปศึกษาได้กลับไปสังกัดอยู่กับมหาวิทยาลัยศิลปากรอีกครั้ง จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2503 เมื่อมหาวิทยาลัยศิลปากรแยกไปสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีพร้อมกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ โรงเรียนศิลปศึกษาจึงกลับมาสังกัดกองหัตถศิลป กรมศิลปากรดังเดิม และพ้นฐานะจากการเป็นโรงเรียนเตรียมของมหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ยุบเลิกแผนกโบราณคดี คงเหลือแต่แผนกจิตรกรรมและประติมากรรมแผนกเดียว ส่วนกำหนดเวลาเรียนยังคงเป็น 3 ปี จึงจบหลักสูตร

จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 เมื่อมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมศิลปากรใหม่ มีการตั้งกองศิลปศึกษาขึ้น โรงเรียนศิลปศึกษาจึงมีฐานะเป็นแผนกหนึ่งในกองศิลปศึกษา มีงบประมาณตำแหน่งครู อาจารย์ เจ้าหน้าที่เป็นของตนเอง และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "โรงเรียนช่างศิลป" ในโอกาสนี้ด้วย

  • พ.ศ. 2505 – ทางการได้รื้ออาคารเรียนเดิมซึ่งเหลืออยู่เพียงหลังเดียว เพื่อสร้างโรงละครแห่งชาติ จึงได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นอาคารเรียนถาวรให้แก่โรงเรียนช่างศิลปขึ้นภายในบริเวณเดียวกันกับโรงเรียนนาฏศิลป นับแต่นั้นมา โรงเรียนช่างศิลปได้ให้การศึกษาแก่นักเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (เทียบเท่าหลักสูตรครูประถมการช่าง หรือ ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหลักสูตร 3 ปี จนกระทั่งวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 กระทรวงศึกษาธิการได้อนุมัติหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง โรงเรียนช่างศิลป กรมศิลปากร พุทธศักราช 2517 ซึ่งใช้เวลาต่อจากหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางอีก 2 ปี และเทียบการศึกษานี้เท่ากับหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) โรงเรียนช่างศิลปจึงได้เปิดให้การศึกษาตามหลักสูตรนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2517

ในปีการศึกษา 2518 โรงเรียนช่างศิลปก็ได้ให้การศึกษาแก่นักเรียน ทั้งในระดับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลางและระดับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง และผลิตผู้สำเร็จการศึกษาการศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงเป็นรุ่นแรก ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนช่างศิลป เป็น วิทยาลัยช่างศิลป เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 และเริ่มขยายกิจการการเรียนการสอนไปที่ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร โดยได้เริ่มพัฒนาก่อสร้างอาคารเรียนในที่ดินวิทยาลัยเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เนื้อที่ประมาณ 63 ไร่ ในปี พ.ศ. 2519 และเริ่มใช้เป็นสถานศึกษาของวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมา

  • พ.ศ. 2524 – วิทยาลัยช่างศิลปได้ปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง ซึ่งเทียบเท่าประโยคครูประถมการช่าง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาในหลักสูตรนี้ โครงสร้างของหลักสูตรประกอบด้วย หมวดวิชาสามัญ หมวดวิชาสัมพันธ์ หมวดวิชาชีพภาคทฤษฎี และวิชาชีพภาคปฏิบัติทั้งศิลปะไทยแบบประเพณีและศิลปะร่วมสมัย มีกำหนดเวลาเรียน 3 ปี และเมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง (ระดับ ปวช.)
  • พ.ศ. 2527 – ได้มีการปรับปรุงหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูงซึ่งเทียบเท่าหลักสูตรประโยคครูมัธยมการช่าง (ป.ม.ช.) อีกครั้งหนึ่ง โดยยกเลิกการเรียนวิชาการศึกษาเช่นเดียวกับหลักสูตรประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นกลาง โครงสร้างของหลักสูตรจึงประกอบด้วย หมวดวิชาพื้นฐานทั่วไป หมวดวิชาศิลปะ (วิชาพื้นฐานวิชาศิลปะ วิชาศิลปะเฉพาะสาขา วิชาศิลปะเลือก) และหมวดวิชาเลือก โดยให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาศิลปะสาขาต่าง ๆ ตามความถนัดและความสนใจในศิลปะเฉพาะสาขา (วิชาเอก) และวิชาศิลปะเลือก (วิชาโท) เมื่อจบการศึกษาแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรศิลปศึกษาชั้นสูง (ระดับ ปวส.)
  • พ.ศ. 2539 – วิทยาลัยได้ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นกลางและหลักสูตรศิลปศึกษาชั้นสูงอีกครั้งหนึ่ง เรียกชื่อว่า หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 (ศ.ปวช.) และหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2539 (ศ.ปวส.) ตามลำดับ ซึ่งมีสาขาวิชาให้นักศึกษาเลือกเรียนอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับแนวนโยบายปฏิรูปการศึกษาและสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  • พ.ศ. 2546 – ปรับหลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2539 มาเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ พุทธศักราช 2544 วิทยาลัยช่างศิลป ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542
  • พ.ศ. 2550 – วิทยาลัยช่างศิลปและสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์แยกตัวจากกรมศิลปากร ตามพระราชบัญญติสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 32 ก วันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2550
  • พ.ศ. 2552 – วิทยาลัยช่างศิลปปรับโครงสร้างการบริหารให้เป็นไปตามประกาศของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยให้มีการสรรหาผู้อำนวยการวิทยาลัย และผู้อำนวยการคนแรกที่มาจากระบบการสรรหา คือ อาจารย์สมบัติ กุลางกูร

วิสัยทัศน์ และพันธกิจ วิทยาลัยช่างศิลป[แก้]

วิสัยทัศน์

วิทยาลัยช่างศิลป มุ่งจัดการศึกษาด้านศิลปะ ที่คำนึงถึงผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

ด้วยการบริหารจัดการที่มี นโยบาย เป้าหมายที่ชัดเจนเป็นระบบ


พันธกิจ

1.จัดการเรียนการสอนศิลปะอย่างมีคุณภาพ โดยคำนึงถึงการพัฒนาศักยภาพตามธรรมชาติของผู้เรียน ด้วยหลักสูตรที่กำหนดคุณลักษณะเฉพาะอันพึงประสงค์

และสอดคล้องกับความต้องการของสังคม

2.ปรับปรุงและพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

3.พัฒนาบุคลากรทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

4.จัดสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้แก่ผู้เรียน

5.พัฒนาระบบการสนับสนุน และการบริหารด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการเนินงานของวิทยาลัย

หลักสูตรการศึกษา[แก้]

วิทยาลัยช่างศิลป จัดการศึกษาทางด้านศิลปกรรมในระดับวิชาชีพและระดับอุดมศึกษา โดยพัฒนาหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนสอดคล้องกับมาตรฐานการอาชีวศึกษา

ส่วนการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา วิทยาลัยได้พัฒนาหลักสูตรต่อเนื่องทางด้านปฏิบัติการ หรือวิชาชีพ เพื่อรองรับผู้จบหลักสูตรศิลปกรรม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงให้เข้าศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความเห็นชอบหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แล้ว

การจัดการศึกษาในแต่ละหลักสูตร มีรายละเอียด ดังนี้

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ.ปวช.)

วิทยาลัยช่างศิลป ได้ปรับปรุงหลักสูตรใหม่ ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปรับปรุง) พุทธศักราช 2560 เป็นหลักสูตร 3 ปี

รับผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) หรือเทียบเท่า โดยนักเรียนจะต้องศึกษารายวิชาต่างๆ ประกอบด้วย

1. หมวดวิชาศึกษาทั่วไป ศึกษาในรายวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา และวิชาภาษาอังกฤษ

2. หมวดวิชาเฉพาะ

2.1 หมวดพื้นฐานวิชาชีพ (ทฤษฎี) ได้แก่ วิชาทฤษฎีสี วิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ วิชากายวิภาค และวิชาทัศนียวิทยา

2.2 หมวดพื้นฐา���วิชาชีพ (ปฏิบัติ) ได้แก่ วิชาวาดเส้น วิชาองค์ประกอบศิลป์ และวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิกส์

2.3 หมวดวิชาชีพ ได้แก่ วิชาศิลปะไทย จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ออกแบบตกแต่ง ลายรดน้ำ สถาปัตยกรรมไทย และเครื่องเคลือบดินเผา

2.4 หมวดวิชาเลือกเสรี เปิดให้ลงทะเบียนรายวิชาต่างๆ ตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน

3. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เปิดให้ผู้เรียนเลือกชมรม กิจกรรมเสริมหลักสูตร หรืออาสารักษาดินแดน (รด.)

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.)

เป็นหลักสูตร 2 ปี รับจากผู้สำเร็จการศึกษาศิลปกรรม ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ. ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ด้านศิลปะ) หรือรับผู้จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า

ที่มีทักษะความสามารถด้านศิลปะในแขนงที่เกี่ยวข้อง

ประกาศนียบัตรวิชาชีพ
ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
ปริญญาตรี

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ศ.ปวช.)

หลักสูตรศิลปกรรมระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ศ.ปวส.)

  • สาขาวิชาศิลปะไทย
  • สาขาวิชาจิตรกรรม
  • สาขาวิชาประติมากรรม
  • สาขาวิชาภาพพิมพ์
  • สาขาวิชาออกแบบตกแต่ง
  • สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย
  • สาขาวิชาเครื่องเคลือบดินเผา
  • สาขาวิชาช่างสิปปหมู่

หลักสูตรระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) สาขาทัศนศิลป์

  • วิชาเอกจิตรกรรม
  • วิชาเอกศิลปะไทย
  • วิชาเอกเครื่องเคลือบดินเผา

วิทยาลัยช่างศิลป 3 แห่ง[แก้]

ทำเนียบผู้บริหาร[แก้]

โรงเรียนศิลปศึกษา
ลำดับ ผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
1
อาจารย์ประยูร โชติกะพุกกณะ พ.ศ. 2495
2
อาจารย์เรณู ยศสุนทร พ.ศ. 2495 – พ.ศ. 2497
3
อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ พ.ศ. 2497 – พ.ศ. 2499
4
อาจารย์อรุณ โลหะชาละ พ.ศ. 2499 – พ.ศ. 2500
5
อาจารย์ละม่อม โอชกะ พ.ศ. 2500
6
อาจารย์สะอาด บัวชาติ พ.ศ. 2500 – พ.ศ. 2502
โรงเรียนช่างศิลป
ลำดับ ผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
7
อาจารย์สะอาด บัวชาติ พ.ศ. 2503 – พ.ศ. 2504
8
อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข พ.ศ. 2504 – 2517
วิทยาลัยช่างศิลป
ลำดับ ผู้อำนวยการ วาระการดำรงตำแหน่ง
9
อาจารย์สวัสดิ์ ตันติสุข พ.ศ. 2517 – พ.ศ. 2528
10
อาจารย์กนก บุญโพธิ์แก้ว พ.ศ. 2528 – พ.ศ. 2534
11
อาจารย์ธงชัย รักปทุม พ.ศ. 2534 – พ.ศ. 2542
12
อาจารย์กมล สุวุฒโฑ พ.ศ. 2542 – พ.ศ. 2547
13
อาจารย์พัชรี ผลานุรักษา พ.ศ. 2547 – พ.ศ. 2550
14
อาจารย์สุขุม บัวมาศ พ.ศ. 2550 – พ.ศ. 2551
รักษาการ พ.ศ. 2551 – พ.ศ. 2552
15
อาจารย์สมบัติ กุลางกูร พ.ศ. 2552 – พ.ศ. 2556
16
อาจารย์บุญพาด ฆังคะมะโน พ.ศ. 2556 – พ.ศ. 2560
17
อาจารย์จรัญ หนองบัว พ.ศ. 2560 – ปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]